Power by Dektajoy

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ศิลปะตะวันออก_จีน

      


ศิลปะจีน
นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าจีนมีประวัติแห่งการพัฒนาประเทศเป็น 4  ยุค  คือ  ยุคแรกเป็นยุคหิน  ต่อมาคือยุคหยก ยุคทองแดง และยุคสุดท้ายคือยุคเหล็ก   สำหรับสมัยประวัติศาสตร์ของจีนมียุคสมัยของศิลปะที่สำคัญดังนี้
                1.  สมัยราชวงศ์ชาง  ( Shang  Dynasty )  ศิลปวัตถุที่เด่นที่สุดคือ  เครื่องสำริด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะสำริดซึ่งมีทรวดทรงสวยงาม  ใหญ่โต  แข็งแรง  หล่อด้วยฝีมือที่ยอดเยี่ยม  อันแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคนิคในการหล่อสำริดที่เจริญกว่าเทคนิคการหล่อสำริดในเมโสโปเตเมีย  ทั้งๆทีรู้จักวิธีหล่อสำริดก่อนจีนเกือบพันปี  เครื่องสำริดของจีนทำขึ้นโดยการหลอมโลหะที่มีส่วนผสมของทองแดง  ดีบุก  และตะกั่ว  ใช้ทำเป็นภาชนะใส่อาหาร  เหล้า  และน้ำ  ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น  เสียม  ขวาน  มีด  เป็นต้น  ลวดลายที่ปรากฏบนสำริดเหล่านี้จะมีความวิจิตรสวยงามมาก  มีทั้งลายนูน  และลายฝังลึกในเนื้อสำริด  เช่น  ลายเรขาคณิต  ลายสายฟ้า  ลายก้อนเมฆ  และลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งลายหน้ากากรูปสัตว์ที่เรียกว่า เถาเทียะ   เห็นจมูก  เขา  และตาถลนอย่างชัดเจน  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พบเห็นในศิลปะจีนในสมัยต่อๆ มาอยู่เสมอ
                นอกจากสำริดแล้ว  เครื่องหยกประเภทต่างๆ  ก็แสดงเห็นฝีมือทางศิลปะอันสูงส่งของสมัยราชวงศ์ชาง  หยกเป็นวัตถุที่นิยมนำมาแกะสลักเป็นรูปต่างๆ  มากที่สุด  โดยช่างในสมัยราชวงศ์ชางมีเทคนิคในการเจียระไนและแกะสลักหยกให้เป็นรูปและลวดลายต่างๆ กัน  เช่น  เป็นใบมีด   เป็นแท่ง  เป็นแผ่นแบนๆ  หัวลูกศร  จี้  หรือรูปสัตว์ต่างๆ  สัญลักษณ์ที่นิยมกันมากคือ  สัญลักษณ์ของสวรรค์  โลกและทิศสี่ทิศ  นอกจากเครื่องหยกแล้วยังพบผลงานแกะสลักอื่นๆอีก  เช่น  งาช้าง  เครื่องปั้นดินเผา  หินอ่อน  โดยแกะสลักเป็นรูปหัววัว  เสือ  ควาย  นก  และเต่า  เป็นต้น                      
                  2.  สมัยราชวงศ์โจว  ( Chou  Dynasty )  ความก้าวหน้าทางศิลปะของราชวงศ์ชาง  ได้สืบทอดต่อมาในสมัยราชวงศ์โจว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคการหล่อสำริด ความเป็นตัวของตัวเองของราชวงศ์โจวก็เริ่มปรากฏชัดขึ้น  เช่น  มีการเน้นลวดลายประดับประดามากขึ้นและไม่เด่นนูนเหมือนสมัยราชวงศ์ชาง  มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ลวดลายสัตว์เป็นรูปมังกรหลายตัวซ้อนกันและเกี้ยวกระหวัดไปมา  ลวดลายละเอียดอ่อนช้อยมาก  ในด้านการแกะสลักเครื่องหยกฝีมือช่างสมัยราชวงศ์โจวจะยอดเยี่ยมกว่าสมัยราชวงศ์ชางมาก  สามารถแกะสลักได้สลับซับซ้อน  ในสมัยราชวงศ์โจวยังพบว่ามีการพัฒนาในเรื่องเครื่องปั้นดินเผา  ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นต้นแบบของเครื่องเคลือบจีน  เพราะรู้จักกรรมวิธีในการเคลือบน้ำยาเบื้องต้นและรู้จักเผาไฟด้วยอุณหภูมิสูง
                3.  สมัยราชวงศ์จิ๋น   ( Chin  Dynasty )   ในสมัยนี้มีสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดในด้านความมโหฬาร  คือ  กำแพงเมืองจีน  ( The  Great  Wall )  ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ชิ้นหนึ่งของโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น  กำแพงเมืองจีนมีความยาวประมาณ   6,700 10,000  กิโลเมตร
                นอกจากนี้ก็ยังพบประติมากรรมดินเผาเป็นรูปทหารเท่าคนจริงฝังอยู่ในสุสานพระจักรพรรดิองศ์หนึ่งแห่งราชวงศ์จิ๋น  คือ  จักรพรรดิฉิน  สื่อ  หวง  ตี่  ซึ่งพระองศ์ได้สร้างไว้ล่วงหน้าก่อนสวรรคต  30  ปี   การขุดค้นได้กระทำไปแล้วบางส่วนในพื้นที่ประมาณ  12,600  ตารางเมตร   และพบประติมากรรมดินเผารูปทหารและม้าศึกจำนวนมากประมาณ  6,000  รูป   รูปทรงของประติมากรรมมีขนาดใกล้เคียงกับคนจริงมาก  คือมีความสูงประมาณ  6  ฟุต  ปั้นด้วยดินเหนียวสีเทา  จากนั้นก็นำไปเผาไฟเช่นเดียวกับการกรรมวิธีการสร้างเครื่องปั้นดินเผาทั่วไป
                4.  สมัยราชวงศ์ฮั่น  ( Han  Dynasty )  ความเป็นปึกแผ่นของประเทศได้ส่งผลสะท้อนมายังศิลปกรรมให้เจริญก้าวหน้าไปด้วยรากฐานที่วางไว้ดีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชางเรื่อยมา   ต่างได้รับการพัฒนาเต็มที่สมัยราชวงศ์ฮั่น  และประติมากรรมเต็มรูปหรือแบบลอยตัวก็เริ่มปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยนี้  มีการพัฒนาทางด้านการออกแบบ  กรรมวิธีการสร้างและมโนภาพในงานสถาปัตยกรรม  จิตรกรรมเขียนตัวอักษร ประติมากรรมหรืองานศิลปหัตถกรรมทั่วไป ในส่วนของประติมากรรมมีการนำหินมาสลักให้เป็นทั้งรูปลอยตัวและรูปแบน   มีเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนิยายตามความเชื่อในลัทธิเต๋า   ประติมากรรมรูปแบน  มักเป็นแผ่นใช้การขีด  วาด  จารึกเป็นลายเส้นหรือไมก็ฉลุเป็นรูปต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการคิดประดิษฐ์กระดาษใช้แทนผ้าไหมและแผ่นหิน  ศิลปะประยุคในสมัยนี้จะบรรลุถึงความงามชั้นสูงสุด  โดยเฉพาะช่างทองรูปพรรณขึ้นชื่อในด้านความประณีต   งดงาม   ซึ่งมีการประดิษฐ์และออกแบบลวดลายพัฒนาขึ้นกว่าเดิมมาก
                5.  สมัยราชวงศ์จิ้น  ( Jin  of  Tsin  Dynasty )  พระพุทธศาสนาได้นำความเชื่อใหม่มาสู่จีน  และได้เข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงศิลปกรรมที่ทำมาเป็นประเพณีแต่เดิม ที่เคยมีความนับถือลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋าเป็นหลักสำคัญ  ให้พัฒนาไปสู่รูปแบบพุทธศิลป์แบบใหม่ๆ  เช่น  การสร้างรูปเคารพ  ศาสนสถาน  เป็นต้น   โดยเฉพะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติจากอินเดียได้เข้ามามีส่วนสร้างงานด้วย  ซึ่งจะเห็นได้ว่าในระยะแรกพุทธศิลป์คงมีรูปลักษณะแบบอินเดีย   แต่ต่อมารูปแบบกรรมวิธีและเนื้อหาได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม  และสอดคล้องกับการแสดงออกของศิลปะจีนเอง  เช่น ที่ถ้ำตุนหวง  ได้มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้  ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของจีน  มีลักษณะเป็นภาพทิวทัศน์ประกอบพุทธประวัติ  และเป็นตัวอย่างอันดีของการผสมผสานเทคนิคจิตรกรรมแบบเปอร์เซีย  อินเดีย  และจีนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว
                6. สมัยราชวงศ์ถัง   ( Tang  Dynasty)   สมัยนี้เป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรมจีนทุกประเภท   โดยเฉพาะเครื่องเคลือบ   ฝีมือของช่างในการผลิตเครื่องเคลือบมีคุณภาพสูงกว่าเครื่องเคลือบที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆทั่วโลก   เครื่องเคลือบที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีคือ  เครื่องเคลือบสามสี   ( Thee -  colour wares )  มีลักษณะแข็งแรงและสง่างามจึงกลายเป็นลักษณะเฉพาะของเครื่องเคลือบในสมัยราชวงศ์ถัง  ลักษณะเนื้อดินละเอียด  ขาวหม่น  ในการเคลือบน้ำยานั้น  จะเว้นที่ส่วนล่างของฐานไว้เล็กน้อย  เพื่อแสดงฝีมือการปั้นของช่าง  ทั้งนี้  ลวดลายที่ปรากฏ  บางส่วนแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเปอร์เซียด้วย

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น